7
มกราคม 2557
วิชา
การอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยที่มีความต้องการพิเศษ
EAED 2209 เวลา 11.30-14.00 น.
เพื่อนๆในชั้นเรียนนำเสนองานเกี่ยวกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ
ดังนี้
กลุ่ม ยูบี
นำเสนอเรื่อง เด็กสมองพิการ
ความหมาย
สมองพิการ(Cerebral Palsy) หรือคำย่อที่นิยมเรียก
คือ ซี พี (C.P.) ไม่ใช่เป็นโรคเฉพาะ
แต่เป็นคำรวมของกลุ่มอาการของผู้ป่วยเด็กที่มีความพิการอย่างถาวรของสมอง
ความพิการนี้จะคงที่และไม่ลุกลามต่อไป
ซึ่งมีผลให้การประสานงานของการทำงานของกล้ามเนื้อบกพร่อง
ส่งผลให้ร่างกายมีการเคลื่อนไหวและการทรงท่าที่ผิดปกติ เช่น การเกร็งของใบหน้า
ลิ้น ลำตัว แขน ขา การทรงตัว การทรงท่าในขณะนั่ง ยืน เดิน
ผิดปกติหรืออาจเดินไม่ได้
สาเหตุ
อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ประมาณร้อยละ 25 หาสาเหตุที่ชัดเจนไม่ได้
แต่ส่วนใหญ่มักจะอยู่ในช่วงระยะเวลาที่มีการเจริญเติบโตของสมอง คือ
ตั้งแต่ระยะที่ทารกอยู่ในครรภ์มารดาจนถึงอายุ 7-8 ปี
โดยแบ่งสาเหตุการเกิดได้ 3 ระยะ คือ
1. ระยะที่เด็กอยู่ในครรภ์มารดาหรือระยะก่อนคลอด(prenatal
period) นับตั้งแต่มารดาตั้งครรภ์จนถึงอายุครรภ์
6 เดือน ซึ่งได้แก่
1.1 ภาวะการติดเชื้อของมารดาระหว่างตั้งครรภ์
เช่น โรคหัดเยอรมัน ซิฟิลิส เริม มาเลเรีย เอดส์ เป็นต้น
1.2 ภาวะการขาดออกซิเจนของทารกในครรภ์ เช่น
มารดาที่มีเลือดออกระหว่างตั้งครรภ์คล้ายจะแท้ง หรือมีการลอกตัวของรกก่อนกำหนด
มารดาขาดอาหารหรือซีดมาก
1.3 ภาวะขาดสารอาหารที่มีคุณค่าของมารดา เช่น ธาตุเหล็ก ไอโอดีน
วิตามินต่างๆ ที่มีอยู่ในอาหารต่างๆ
1.4 มารดามีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน เด็กอาจตัวใหญ่ผิดปกติ
ทำให้เกิดอันตรายจากการคลอดได้ หรือภาวะครรภ์เป็นพิษ ความดันโลหิตสูงมาก
อาจทำให้มีเลือดออกในสมองของเด็กได้
1.5 ยาและสารพิษบางอย่างที่มารดาได้รับมากเกินปกติ (ตะกั่ว ปรอท
บุหรี่ สุรา)
1.6 ความผิดปกติของสมองโดยกำเนิด เช่น ภาวะน้ำคั่งในกะโหลกศีรษะ
สมองไม่เจริญ สมองลีบ สมองเล็ก
1.7 ความผิดปกติของโครโมโซม
1.8 รก และสายสะดือไม่สมบูรณ์
2. ระยะระหว่างคลอด(perinatal
period)
นับตั้งแต่
3 เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์จนถึงสัปดาห์แรกหลังคลอด
ได้แก่
2.1 เด็กคลอดก่อนกําหนด
และเด็กที่มีน้ำหนักตัวน้อย คือ ต่ำกว่า 2,500 กรัม
จะมีความเสี่ยงสูงที่จะสมองพิการ
2.2 ภาวะการขาดออกซิเจนในเด็กระหว่างคลอด
จากการคลอดลำบาก คลอดผิดปกติ เช่น คลอดท่าก้น หรือสายสะดือพันคอ เด็กสำลักน้ำคร่ำ หรือ การคลอดที่ต้องใช้เครื่องช่วย เช่น คีมคีบ หรือ
เครื่องดูดศีรษะ
2.3 ภาวะกลุ่มเลือดมารดาและทารกไม่เข้ากัน
ทำให้เด็กคลอดออกมาตัวเหลือง
2.4 การคลอดโดยใช้ยาระงับปวดบางชนิด
เช่น มอร์ฟีน หรือการฉีดยาเข้าไขสันหลัง เพื่อระงับปวดระหว่างคลอด
อาจเสี่ยงกับการขาดออกซิเจนในเด็กได้
3.ระยะหลังคลอด (postnatal
period) ได้แก่
3.1 ภาวะสมองเด็กขาดออกซิเจน เช่น
ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด การวางยาสลบ การจมน้ำ หรือมีอาการชัก
3.2 การติดเชื้อของเด็ก
เช่น โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคสมองอักเสบ โรคหัด เป็นต้น
3.3 อุบัติเหตุที่ทำให้มีอันตรายต่อสมองของเด็ก
เช่น กะโหลกร้าว มีเลือดออกในสมอง
อาการและอาการแสดง
ส่วนใหญ่พ่อแม่มักพบความผิดปกติได้ตั้งแต่ก่อนอายุ 1 ปี สังเกตได้จากเด็กจะมีท่านอนผิดปกติจากกล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือเกร็ง
เด็กอายุมากกว่า 5 เดือน กำมือมากกว่าแบมือ
หรือในเด็กที่มีอายุมากว่า 2 ปียังไม่สามารถเดินได้ เป็นต้น
จำเป็นต้องพาเด็กเข้ารับการตรวจรักษาทันทีเมื่อสังเกตพบความผิดปกติโดยแบ่งเป็น
3 กลุ่ม ดังนี้
1.กลุ่มแข็งเกร็ง(สปาสติก
: spastic)
เป็นชนิดที่พบมากที่สุด
โดยกล้ามเนื้อจะมีความตึงตัวมากผิดปกติ
ทำให้มีอาการเกร็งร่วมกับมีลักษณะท่าทางที่ผิดปกติของร่างกายปรากฏให้เห็นได้หลายแบบ
ดังต่อไปนี้
1.1 แบบครึ่งซีก
จะมีอาการเกร็ง ของแขนและขาข้างเดียวกัน(spastic hemiplegia) โดยมักพบว่าแขนมีอาการมากกว่าขา และเห็นลักษณะผิดปกติของแขนชัดเจน คือ
มีการเกร็งงอของข้อศอก ข้อมือ และนิ้วมือกำ ส่วนขาพบมีเท้าเกร็งจิกลง
ลักษณะที่พบจะคล้ายในผู้ใหญ่ที่เป็นอัมพาตครึ่งซีก
1.2 แบบครึ่งท่อน
จะมีอาการเกร็งของขาและแขนทั้งสองข้าง(spastic diplegia) พบว่ามีอาการเกร็งในส่วนของขามากกว่าแขนมากอย่างเห็นได้ชัด
1.3 แบบทั้งตัว
จะมีอาการเกร็งมากทั้งแขนและขาทั้งสองข้าง
พบว่ามีอาการเกร็งของส่วนของแขนและขาใกล้เคียงกัน
หรือบางครั้งอาจพบว่ามีส่วนของแขนมากกว่าขา (spastic quadriplegia)
2.กลุ่มที่มีการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นเอง(อะธีตอยด์
: athetoid ; อะแทกเซีย : ataxia)แบ่งได้ดังนี้
2.1. อะธีตอยด์(athetoid) ความตึงตัวของกล้ามเนื้อจะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และไม่แน่นอน
ทำให้ควบคุมการเคลื่อนไหวไม่ได้ มีการเคลื่อนไหวมากที่มือและเท้า
บางรายอาจมีคอเอียง ปากเบี้ยวร่วมด้วย
2.2 อะแทกเซีย(ataxia)
ความตึงตัวของกล้ามเนื้อจะน้อยจนถึงปกติ ทำให้มีปัญหาการทรงตัว
มีความผิดปกติในการทรงตัวของร่างกาย กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกัน
และอาจเกิดอาการสั่นขณะเคลื่อนไหวร่างกายร่วมด้วยได้
3.กลุ่มอาการผสมกัน(mixed
type)
พบมากโดยเฉพาะกลุ่มแข็งเกร็งร่วมกับกลุ่มที่มีการเคลื่อนไหวเกิดได้เอง
ปัญหาและความผิดปกติที่เกิดร่วมกับเด็กสมองพิการ
1. ภาวะปัญญาอ่อน เด็กสมองพิการจะมีระดับสติปัญญาอยู่ในทุกระดับ พบว่ามีระดับสติปัญญาต่ำกว่าปกติ คือมีปัญญาอ่อนระดับน้อย ร้อยละ 20
และปัญญาอ่อนระดับปานกลางถึงรุนแรง ร้อยละ 30-40การทดสอบระดับสติปัญญา(psychological test) โดยทั่วไปอาจไม่ได้บอกถึงระดับสติปัญญาที่แท้จริง
เนื่องจากเด็กสมองพิการมักจะมีปัญหาร่วมอย่างอื่น เช่น การมองเห็น
การได้ยิน การพูดและการรับรู้ภาษา รวมทั้งอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงง่าย
เด็กขาดการกระตุ้น ขาดแรงจูงใจและขาดประสบการณ์ชีวิต
ดังนั้นเมื่อทำการทดสอบระดับสติปัญญา เด็กมักจะได้ผลที่ต่ำกว่าปกติเสมอ
2. ด้านการรับรู้
เรียนรู้และความคิด เด็กสมองพิการมีความสามารถในการเคลื่อนไหวที่จำกัด
ทำให้การสำรวจและเรียนรู้สิ่งแวดล้อมต่างๆ ได้น้อยมาก
ทำให้ไม่สามารถเข้าใจความผิดปกติของตำแหน่ง ทิศทาง ความหยาบ ความละเอียด รูปทรง
ความรู้สึกร้อนหนาว และไม่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับรูปร่างและส่วนต่างๆของร่างกาย (body
image)ว่าอยู่ในตำแหน่งใด และมีความสัมพันธ์กันอย่างไร
3. ด้านอารมณ์และสังคม
จะมีการเปลี่ยนแปลงมาก เด็กสมองพิการมักจะมีอาการเศร้าซึม
เนื่องจากทำการเคลื่อนไหวไม่ได้ดังตั้งใจ บางครั้งทำได้
บางครั้งทำไม่ได้ ไม่สามารถวิ่งเล่นกับเพื่อนได้
ช่วยตัวเองไม่ได้เลยทำให้มีปัญหาทางอารมณ์และสังคมได้
4. โรคลมชัก พบว่าประมาณ ร้อยละ 20-50
ของเด็กสมองพิการมีอาการชักร่วมด้วย
การพยากรณ์ของโรคพบว่าค่อนข้างรุนแรง
แต่ต้องแยกจากอาการชักที่เกิดในสัปดาห์แรกหลังคลอดแล้วไม่เกิดอีก
หรือการชักจากไข้สูงในเด็กเล็กๆ ซึ่งพวกนี้การพยากรณ์ของโรคจะดีกว่า
บิดาและมารดาควรพาเด็กมาพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพราะเด็กที่มีโรคลมชักต้องการการดูแลเป็นพิเศษและควรปรับยาเป็นระยะๆ
เพื่อให้เหมาะสมกับอาการของเด็กในระยะนั้นๆ
5. ด้านการมองเห็น
เด็กสมองพิการมักจะมีความบกพร่องทางด้านการมองเห็น โดยพบว่ามีตาเหล่ได้บ่อยถึงร้อยละ
20-60 โดยเป็นตาเหล่เข้าในมากกว่า
ถ้าทิ้งไว้นานตาจะรับภาพเพียงข้างเดียว ทำให้การรับความตื้นลึกของภาพผิดปกติด้วย
ความผิดปกติอื่นๆ ทางตาที่อาจพบได้ในเด็กสมองพิการ คือไม่สามารถกลอกตาขึ้นบนพร้อมกันได้
หรือ มีตาดำกระตุก(nystagmus) ร่วมด้วย
ส่วนเรื่องสายตาสั้นยาวนั้น พบได้มากถึงร้อยละ 25-75 เด็กจึงควรได้รับการตรวจจากจักษุแพทย์ในครั้งแรก
และรับการตรวจในวัยเข้าเรียนอีกครั้ง
6. ด้านการได้ยิน
เด็กสมองพิการอาจจะมีความผิดปกติของการได้ยินเนื่องมาจากความบกพร่องของหูส่วนกลาง
โดยเฉพาะการแยกเสียงความถี่สูง
เมื่อมีปัญหาในหูชั้นกลางทำให้เด็กได้ยินเสียงน้อยลง เช่น
การพูดอย่างนิ่มนวล เมื่อพ่อแม่หรือผู้เกี่ยวข้องพูดด้วยเสียงระดับนี้
เด็กอาจะไม่ได้ยินต้องพูดซ้ำๆ เด็กจะได้ยินเมื่อมาพูดใกล้ๆ ถ้าตะโกนอาจทำให้เด็กตกใจกลัว ร้องไห้ ทำให้มีผลต่ออารมณ์ของเด็กได้
7. การสื่อความหมาย
เด็กสมองพิการจะมีความบกพร่องทางด้านภาษาพูด โดยสาเหตุที่เด็กไม่สามารถควบคุมศีรษะได้
ทำให้ไม่สามารถสังเกตเห็นได้ว่าอะไรทำให้เกิดเสียงนั้นๆ
และไม่สามารถเลียนแบบเสียง หรือติดต่อสื่อสารได้ ตัวอย่างของความผิดปกติของการพูด ได้แก่ ไม่พูดเลย พูดช้ากว่าปกติ
หรือมีความยากลำบากในการพูด ความผิดปกติของกล้ามเนื้อที่ใช้พูด
หรือความผิดปกติในเนื้อสมองที่ควบคุมเกี่ยวกับการสื่อสารและภาษา รวมทั้งระดับสติปัญญาด้วย
8. ด้านกระดูก
เด็กสมองพิการมักจะพบการหลุดออกจากที่(dislocation) หรือการเคลื่อนออกจากที่บางส่วน(subluxation)
ของข้อต่อต่างๆของร่างกาย เช่น ข้อสะโพก, ข้อไหล่
เป็นต้น อาจพบภาวะกระดูกสันหลังคด (scoliosis), การหดรั้ง
และเท้าแปแต่กำเนิด(equinus) เป็นต้น
9. ด้านฟันและร่องปาก
เด็กสมองพิการมักพบปัญหาฟันผุได้บ่อย เนื่องจากการดูแลรักษาความสะอาดฟันและช่องปากทำได้ยากลำบาก
เด็กไม่สามารถอ้าปากหรือบ้วนน้ำเองได้
ซึ่งถ้าขาดการดูแลรักษาความสะอาดฟันและช่องปากที่ดีหรือทำได้ไม่เพียงพอ
อาจทำให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมายตามมาได้
บิดาและมารดาควรพาเด็กไปพบทันตแพทย์เป็นระยะๆ
การดูแล/รักษา
เนื่องจากเด็กสมองพิการมีหลายชนิด
ซึ่งแต่ละชนิดประกอบไปด้วยปัญหาด้านต่างๆ รวมกันหลายอย่าง เช่น
ปัญหาด้านการเคลื่อนไหว ปัญหาด้านการใช้มือ ปัญหาด้านการดูดกลืน
ปัญหาด้านการสื่อสาร ปัญหาด้านสติปัญญา สังคมและอารมณ์
รวมถึงสภาพสิ่งแวดล้อมและครอบครัว การให้การดูแลรักษาเด็กสมองพิการนั้นควรได้รับการดูแลรักษาทั้งหมดในทุกๆ
ด้าน โดยอาศัยความร่วมมือของเด็ก ครอบครัว และทีมงานผู้ให้การรักษา การได้รับความรักและการดูแลรักษาที่ถูกต้องตั้งแต่เล็กๆ
จะทำให้เด็กมีพัฒนาการดีขึ้นได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับการมารับการรักษาเมื่อมีอายุมาก
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของโรคด้วย
การรักษาด้วยยา
-ยากิน
สามารถลดความเกร็งของกล้ามเนื้อได้ในระดับหนึ่งแต่ผลข้างเคียงคือ อาการง่วงนอน
ยามีผลลดความเกร็งของกล้ามเนื้อทุกมัด ดังนั้นจึงไม่สามารถแก้ความผิดรูปของข้อได้
-ยาฉีดเฉพาะที่
เป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน ผลิตจากสารพิษจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง
มีฤทธิ์ทำให้การนำประสาทส่วนปลายถูกขัดขวางเมื่อฉีดเข้าไปที่กล้ามเนื้อที่มีอาการเกร็งได้
และลดความผิดรูปของข้อได้ แต่ยาออกฤทธิ์เพียงชั่วคราว ภายใน 3-4 เดือน จะหมดฤทธิ์ กล้ามเนื้อจะกลับมาเกร็งอีก เด็กสมองพิการ
มีกล้ามเนื้อที่เกร็งผิดรูปหลายมัด ถ้าจะแก้อาการเกร็งของกล้ามเนื้อทั้งหมด
ต้องใช้ปริมาณยามากและยาฉีดในกลุ่มนี้มีราคาแพงมาก สำหรับคนไข้ที่ข้อแข็งมาก
การฉีดยาจะไม่ช่วยอะไร
กลุ่ม อ๊อฟ
นำเสนอเรื่อง เด็ก L.D.
สาเหตุของ LD
• ความผิดปกติของการทำงานของสมองที่ไม่สามารถถอดรหัสตัวอักษรออกมาได้ (เชื่อมโยงภาพตัวอักษรเข้ากับเสียงไม่ได้)
• กรรมพันธุ์
ลักษณะของเด็ก LD แต่ละประเภท (การเขียน)
• ลากเส้นวนๆ ไม่รู้ว่าจะม้วนหัวเข้าในหรือออกนอก ขีดวนๆ ซ้ำๆ
• เรียงลำดับอักษรผิด เช่น สถิติ เป็น สติถิ
• เขียนพยัญชนะหรือตัวเลขสลับกัน เช่น ม-น, ภ-ถ, ด-ค, พ-ผ, b-d, p-q, 6-9
• เขียนพยัญชนะ ก-ฮ ไม่ได้ แต่บอกให้เขียนเป็นตัวๆได้
• เขียนพยัญชนะ หรือ ตัวเลขกลับด้าน คล้ายมองจากกระจกเงา
• เขียนคำตามตัวสะกด เช่น เกษตร เป็น กะเสด
• จับดินสอหรือปากกาแน่นมาก
• สะกดคำผิด โดยเฉพาะคำพ้องเสียง ตัวสะกดแม่เดียวกัน ตัวการันต์
• เขียนหนังสือช้าเพราะกลัวสะกดผิด
• เขียนไม่ตรงบันทัด ขนาดตัวอักษรไม่เท่ากัน ไม่เว้นขอบ ไม่เว้นช่องไฟ
• ลบบ่อยๆ เขียนทับคำเดิมหลายครั้ง
ลักษณะของเด็ก LD แต่ละประเภท (การอ่าน)
• อ่านช้า อ่านคำต่อคำ ต้องสะกดคำจึงจะอ่านได้
• อ่านออกเสียงไม่ชัดเจน
• เดาคำเวลาอ่าน
• อ่านข้าม อ่านเพิ่มคำ อ่านผิดประโยคหรือผิดตำแหน่ง
• อ่านโดยไม่เน้นคำ หรือเน้นข้อความบางตอน
• ผันเสียงวรรณยุกต์ไม่ได้
• ไม่รู้ความหมายของเรื่องที่อ่าน
• เล่าเรื่องที่อ่านไม่ได้ จับใจความสำคัญไม่ได้
ปัญหาพฤติกรรมและอารมณ์ของเด็ก LD
• หลีกเลี่ยงการอ่านการเขียน
• ทำสมุดการบ้านหายบ่อยๆ
• ต่อต้านแบบดื้อเงียบ
• ดูเหมือนเด็กเกียจคร้าน
• ไม่มีสมาธิในการเรียนทำงานช้าทำงานไม่เสร็จในชั้นเรียน
• ทำงานสะเพร่า
• ความจำไม่ดีได้หน้าลืมหลัง
• ขาดความมั่นใจกลัวครูดุกลัวเพื่อนล้อ
• ไม่อยากมาโรงเรียนโทษครูว่าสอนไม่ดีเพื่อนแกล้ง
• เบื่อหน่ายท้อแท้กับการเรียน
• รู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งด้อยกว่าคนอื่น
• ไม่มั่นใจในตัวเอง
• มักตอบคำถามว่า“ทำไม่ได้“ไม่รู้”
• อารมณ์หงุดหงิดขึ้นลงง่ายคับข้องใจง่าย
• ก้าวร้าวกับเพื่อนครูพ่อแม่(ที่จ้ำจี้จ้ำไช)
ปัญหาการเรียน
• ปัญหาการพูด มีปัญหาในการฟังและพูด เช่น พูดช้าพูดสับสน เรียบเรียงประโยคไม่ค่อยได้ หาคำพูดเพื่อมาตอบคำถามไม่ถูกต้อง
• ปัญหาการเขียน มีความลำบากในการอ่าน การเขียน และ การสะกดคำ เช่น อ่านไม่เข้าใจ อ่านออกเสียงไม่ถูกต้อง อ่านตัวอักษรสลับกัน
• ปัญหาการคำนวณไม่เข้าใจแนวคิดของพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ทำเลขไม่ได้
• ปัญหาในกระบวนความคิดสับสนในการเรียบเรียงและบูรณาการข้อมูลและความคิดต่างๆ
• ปัญหาความจำจำข้อมูลและคำสั่งต่างๆไม่ค่อยได้นึกอะไรไม่ค่อยออก
อาการที่มักเกี่ยวข้องกับLD
• แยกแยะขนาดสีและรูปร่างไม่ออก
• มีปัญหาความเข้าใจเกี่ยวกับเวลา
• เขียน/อ่านตัวอักษรสลับซ้าย-ขวา
• งุ่มง่ามการประสานงานของกล้ามเนื้อไม่ดี
• การประสานงานของสายตา-กล้ามเนื้อ (visual-motor coordination) ไม่ดี
• สมาธิไม่ดี( เด็ก LD ร้อยละ 15-20 มีสมาธิสั้น ADHD ร่วมด้วย)
• เขียนตามแบบไม่ค่อยได้
• ทำงานช้า
• การวางแผนงานและจัดระบบ (organize) ไม่ดี
• ฟังคำสั่งสับสน
• คิดแบบนามธรรมหรือคิดแก้ปัญหาไม่ค่อยดี
• ความคิดสับสนไม่เป็นขั้นตอน
• ความจำระยะสั้น/ยาวไม่ดี
• ถนัดซ้ายหรือถนัดทั้งซ้ายและขวา
• ทำงานสับสนไม่เป็นขั้นตอน
วิธีการช่วยเหลือเด็ก LD
• สอนเสริม ควรจัดให้เด็กเรียนในชั้นเล็กๆ หรือมีห้องพิเศษที่จัดไว้สอนเด็กที่มีปัญหาคล้ายๆกัน หรือให้มีการเรียนตัวต่อตัว ที่เรียกว่า resource room
• สอนไปตามขั้นตอนเท่าที่เด็กรับได้ ไม่ควรเร่ง และจะต้องให้เหมาะกับเด็กเป็นรายๆไป เขียนแผนการเรียนรายบุคคล (Individualized Educational Plan-IEP)
• สอนซ้ำๆจนเด็กสามารถก้าวหน้าทีละขั้น เน้นไปในสิ่งที่เด็กทำได้ ให้กำลังใจและชมเชยเมื่อเด็กก้าวหน้าขึ้น
• สอนเด็กในช่องทาง (channel) ที่เด็กรับได้ เช่น หากเด็กมีปัญหาในด้านการรับเสียงแต่การรับภาพปกติ ก็สอนโดยใช้ภาพ เช่น ให้ดูรูปมากขึ้น หากเด็กมีปัญหาในการรับภาพ ก็สอนโดยใช้เสียงมากขึ้น เช่น เด็กที่อ่านหนังสือไม่ได้ พ่อแม่ก็อ่านหนังสือให้ฟัง เป็นต้น
• ใช้วิธีเรียนรู้หลายรูปแบบ (multimodal technique) ตามช่องทางที่เด็กเรียนรู้ได้ เช่น เด็กที่อ่านไม่คล่อง พ่อแม่อาจอ่านหนังสือแล้วอัดเทปไว้ให้เด็กมาเปิดฟัง ถ้าเด็กอ่านข้อสอบไม่ได้ อาจต้องขอให้คุณครูอ่านข้อสอบให้เด็กฟังเป็นพิเศษ
• ใช้เครื่องมือต่างๆเข้ามาช่วยเด็ก เช่น เด็กที่มีปัญหาการเขียนอาจใช้เครื่องพิมพ์ดีดหรือเครื่องคอมพิวเตอร์มาช่วย เด็กที่มีปัญหาการคำนวณควรอนุญาตให้ใช้เครื่องคิดเลข ส่วนเด็กที่มีปัญหาการอ่านก็ใช้เครื่องอัดเทปมาช่วย เด็กที่สับสนเกี่ยวกับตัวอักษรก็ควรฝึกโดยใช้ตัวอักษรพลาสติกให้เด็กจับต้อง เพื่อให้เรียนรู้ทางการสัมผัสด้วย เป็นต้น
• แก้ไขอาการสมาธิไม่ดีหรือโรค ADHD ที่มีร่วมด้วย
คำแนะนำแก่ผู้ปกครองของเด็ก LD
• พยายามใจเย็นๆ เมื่อคุณฟังเด็กพูดหรือรอเด็กเขียน เพราะเด็กอาจจะพูดหรือเขียนได้ไม่คล่องและต้องใช้เวลาสักนิด
• แสดงความรักต่อเด็ก
• มองหาจุดแข็งและความสามารถอื่นๆพยายามสร้างจุดแข็งเหล่านั้นให้ทดแทนความบกพร่องที่เด็กมี
• อย่าลืมชมเมื่อเด็กทำอะไรได้ดีแม้จะเป็นสิ่งเล็กน้อยก็ตาม
• ยอมรับนับถือในตัวเด็กว่าเด็กก็เป็นบุคคลที่มีความหมายและมีสิ่งดีๆในตนเองเหมือนกัน
• มีความคาดหวังที่เหมาะสม
• เมื่อเด็กทำผิดเช่นเขียนผิดอ่านผิดจงอย่าบ่นช่วยเด็กแก้ไขข้อที่ผิดอย่างอดทน
• อ่านหนังสือสนุกๆกับเด็กกระตุ้นให้เด็กถามคำถามเล่าเรื่องและแสดงความคิดเห็น
• เด็ก LD มักมีปัญหาสมาธิสั้นร่วมด้วย ดังนั้นต้องช่วยเด็กโดยลดสิ่งที่จะทำให้เด็กวอกแวก ให้เด็กมีที่เงียบๆ สำหรับนั่งทำงาน
• อย่ามีของเล่นมากไปอย่าเปิดโทรทัศน์หรือวิทยุขณะเด็กทำการบ้าน
• อย่าสนใจคะแนนมากนักเพราะเด็กอาจทำคะแนนได้ไม่ดีทั้งๆที่พยายามมากแล้ว
• ช่วยให้เด็กมีความนับถือตนเองอย่างมั่นคง
กลุ่ม ละออ นำเสนอเรื่อง เด็กสมาธิสั้น
ลักษณะอาการ โรคสมาธิสั้น (Attention Deficit / Hyperactivity Disorder - ADHD) เป็นความผิดปกติของพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับอายุ และระดับพัฒนาการ เป็นก่อนอายุ 7 ปี แสดงออกอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอไม่ต่ำกว่า 6 เดือน จนทำให้เกิดผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และการเรียน โดยมีอาการหลักอยู่ 3 อาการ คือ
1) สมาธิสั้น (Inattention)
2) พฤติกรรมอยู่ไม่นิ่ง (Hyperactivity)
3) หุนหันพลันแล่น (Impulsiveness)
อาการสมาธิสั้น (Inattention) 1. มีความยากลำบากในการตั้งสมาธิ
2. มักวอกแวกง่าย ตามสิ่งเร้าภายนอก
3. ดูเหมือนไม่ฟังเมื่อมีคนพูดด้วย
4. ทำตามคำสั่งไม่จบ หรือทำกิจกรรมไม่เสร็จ
5. หลีกเลี่ยงที่จะทำกิจกรรมที่ต้องใช้ความพยายาม
6. ละเลยในรายละเอียด หรือทำผิดด้วยความเลินเล่อ
7. มีความยากลำบากในการจัดระเบียบงานหรือกิจกรรม
8. ทำของหายบ่อยๆ
9. มักลืมกิจวัตรประจำวันที่ต้องทำสม่ำเสมอ
อาการอยู่ไม่นิ่ง (Hyperactivity)
1. ยุกยิก ขยับตัวไปมา
2. นั่งไม่ติดที่ มักต้องลุกเดินไปมา
3. มักวิ่งวุ่น หรือปีนป่าย ในสถานการณ์ที่ไม่เหมาะสม
4. ไม่สามารถเล่นเงียบๆได้
5. เคลื่อนไหวไปมา คล้ายติดเครื่องยนต์ตลอดเวลา
6. พูดมากเกินไป
อาการหุนหันพลันแล่น (Impulsiveness) 1. มีความยากลำบากในการรอคอย
2. พูดโพล่งขึ้นมา ก่อนถามจบ
3. ขัดจังหวะ หรือสอดแทรกผู้อื่น ในวงสนทนาหรือในการเล่น
สาเหตุ โรคสมาธิสั้น เกิดจากความผิดปกติในการทำงานของสมองบางส่วน ในปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด คาดว่าเกิดจากสารเคมีในสมองบางชนิดไม่สมดุล เช่น dopamine, norepinephrine, serotonin ฯลฯ ทำให้เด็กไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ดี แม้เด็กจะพยายามควบคุมตนเองแล้วก็ตาม
จากผลการศึกษาส่วนใหญ่ เชื่อว่าโรคนี้มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรม โดยพบว่าเด็กที่เกิดจากพ่อแม่ที่เป็นโรคสมาธิสั้นจะมีโอกาสที่จะเป็นโรคนี้ได้มากกว่าเด็กอื่นๆ ถึง 4 เท่า
นอกจากนี้ การที่ พ่อแม่ ติดเหล้า บุหรี่ สารเสพติด หรือมีโรคภูมิแพ้ในครอบครัว ก็เชื่อว่าเป็นสาเหตุได้เช่นกัน
แนวทางการดูแลรักษา แนวทางการดูแลรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ต้องผสมผสานการรักษาหลายวิธีเข้าด้วยกัน อาศัยความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่าย ทั้ง ครอบครัว ครู และบุคลากรสาธารณสุข การดูแลรักษาประกอบด้วย
1) เสริมสร้างศักยภาพครอบครัว
2) การใช้ยา
3) การปรับพฤติกรรม
4) การช่วยเหลือด้านการเรียนรู้